เคล็ดลับสอนลูกให้เรียนเก่งของพ่อจน

พ่อจนสอนลูกเรียนเก่ง daddythumb

จะเรียนพิเศษไปทำไม ในเมื่อคุณก็เป็นโค้ชการเรียนให้ลูกได้

พบเทคนิคฝึกสอนลูกให้เรียนเก่งโดยไม่ต้องเสียเงินกวดวิชาสักบาท

เมื่อเห็นสถิติที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายในการส่งบุตรหลานเรียนกวดวิชาอย่างต่ำเดือนละ 3,000 บาทต่อคน และสูงสุดถึง 80,000 บาทต่อปี

เห็นจำนวนเงินแล้วก็เหนื่อยแทนพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องหาเงินส่งลูกเรียนปีละหลายหมื่นบาท ซึ่งถ้าคิดโดยรวมจะพบว่าเงินพ่อแม่ที่ลงทุนไปกับการกวดวิชาของเด็กกลุ่มนี้สูงถึง 80,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อหวังให้ลูกเรียนเก่งและโดดเด่นเหนือใครๆ

แต่หากครอบครัวที่มีรายได้น้อย แต่อยากให้ลูกเรียนเก่งละ จะทำอย่างไร?

วันนี้จึงมีเคล็ดลับดีๆ จากหนังสือ “พ่อจนสอนลูกเรียนเก่ง” โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ด้วยวิธีการง่ายๆ ที่เริ่มจากตัวพ่อแม่ มาฝากกัน

“พ่อจนสอนลูกเรียนเก่ง” เขียนจากประสบการณ์จริงของ ฮันฮีซ็อก นักเขียนผู้ยากจน ที่ทำได้จริงมาแล้วตลอด 10 ปี ที่พยายามเป็น “โค้ชการเรียนของลูก” จนกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีมอบรางวัล “ต้นแบบการฝึกสอนลูกให้เก่งโดยไม่ต้องเรียนกวดวิชา” กับผลลัพท์ที่ดีเหลือเชื่อ

จากลูกสาวที่เคย “เกือบที่โหล่” ของห้อง กลายเป็น “ที่ 1” ของโรงเรียน ติดต่อกันตั้งแต่ ม.3-ม.6 และสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐติด แบบไม่เสียเงินกวดวิชาสักบาท!

1. ทำตัวกลมกลืนกับลูกๆ พูดภาษาเดียวกัน กินเหมือนกัน ให้ลูกๆ เชื่อใจว่าเป็นพวกเดียวกัน ฉะนั้นเมื่อเราสอนเราพูดอะไร ลูกๆ จะเชื่อฟังเราอย่างดี อีกทั้งเรียนรู้รสนิยม พฤติกรรม การพูดจาของลูกและเพื่อน ๆ ไว้บ้างเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในครอบครัว

2. พาลูกไปเปิดหูเปิดตา เข้าชมนิทรรศการหรือกิจกรรมฟรีๆ เช่น งานแสดงภาพวาด นิทรรศการศิลปะต่างๆ ละครเวที งานแสดงดนตรี ของนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มักจะให้เข้าชมฟรี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างประสบการณ์ทางศิลปะพัฒนาสมองและจิตใจลูกๆ ทำให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และเข้าใจสิ่งต่างๆ มากขึ้น
3. ตัดบทความจากหนังสือพิมพ์ เลือกคอลัมน์ที่เหมาะสมกับลูก ผู้เขียนแสดงทัศนะคติชัดเจน เป็นบทความสั้น ๆ อ่านจบภายใน 5 นาที วันละ 1 บทความ ให้ลูกอ่านเป็นประจำช่วยสร้างมุมมองความคิดใหม่ๆ เข้าใจเหตุการณ์บนโลกอย่างลึกซึ้ง และสร้างกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบและมีเหตุมีผล

4. เมื่อเด็กอ่านบทความจากหนังสือพิมพ์บ่อยๆ จะทำให้รู้เรื่องรอบตัวมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรหาเรื่องรอบๆ ตัวมาอภิปรายร่วมกับลูก เพื่อให้ทราบทัศนคติของลูก อีกทั้งช่วยสร้างเสริมให้ลูกรู้จักคิดและใช้เหตุผล

5. ให้ลูกๆ ดูโทรทัศน์ได้ แต่ควรวางแผนอย่างเหมาะสม ควรเลือกให้ดูเฉพาะรายการที่มีประโยชน์ เช่น สารดคี เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับลูกๆ

6. ควบคุมบรรยากาศภายในบ้าน เช่น เมื่อใกล้วันสอบ ทุกคนในบ้านงดดูทีวีโดยเด็ดขาด เป็นเวลา 20 วัน ไม่เฉพาะลูกแต่ทั้งพ่อแม่หรือพี่น้องก็ห้ามดูเช่นกัน จะช่วยให้ลูกมีสมาธิ มีความตั้งใจและความสามัคคีของคนในครอบครัว ลูกไม่รู้สึกเควงคว้างที่ต้องทำอยู่คนเดียว

7. พ่อแม่หมั่นเข้าร่วมฟังสัมมนาแนะแนวการศึกษาของลูก เพื่อเก็บข้อมูล และเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือลูกๆ ในการสอบเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย

8. ยืมหนังสือวรรณกรรมจากห้องสมุดให้ลูกอ่าน การอ่านจะช่วยพัฒนาทักษะทางด้านภาษา การคิดวิเคราะห์ และการจับใจความสำคัญ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานในการเรียน

9. เมื่อลูกทำสิ่งใดได้สำเร็จ พ่อแม่ต้องรู้จักชมเชยอย่างเหมาะสมและถูกจังหวะ ไม่เน้นจำนวนครั้ง แต่ใส่ใจทุกคำพูด เลี่ยงการพูดชมแบบเดิมๆ เพราะคุณค่าจะลดลง ควรพูดให้กระชับ อาจใช้มือลูบหัวหรือลูบหลังแทนคำพูดก็ได้ และหาวิธีชมเชยแบบใหม่ๆ เสมอ แต่ห้ามเปรียบเทียบหรือเติมเงื่อนไขในคำชมเชยเด็ดขาด

10. สุดท้ายพ่อแม่อย่าไปเร่งเด็กๆ ปล่อยให้พวกเขารักษาระดับการวิ่งของตนเองต่อไป พ่อแม่คอยเป็นกำลังใจและช่วยเหลืออยู่ข้างๆ จะดีกว่า

จงจำไว้ว่า “การเรียนคือหน้าที่ของลูก ส่วนหน้าที่ของพ่อแม่คือสนับสนุน”

หนังสือเล่มนี้จะปลุกแรงบันดาลใจให้ทุกครอบครัวมีหนทางออกสว่างไสว แม้ไม่ต้องส่งลูกเรียนกวดวิชาเหมือนใครๆ ก็ยังเรียนเก่งเป็นที่ 1 ได้ ซึ่งเป็นต้นแบบที่ยืนยันได้ว่า “ไม่ต้องกวดวิชาก็เรียนเก่งได้” ด้วยความเอาใจใส่ทุ่มกายทุ่มใจของพ่อแม่

Cr : http://www.nanmeebooks.com/reader/news_inside.php?newsid=1258

(Visited 480 times, 1 visits today)

Leave a Reply